เหตุผล 10 ข้อที่สภาพอากาศในอังกฤษไม่แย่อย่างที่คุณคิด (และน่าสนใจกว่านั้นมาก)
ผู้ที่ไม่เคยใช้ชีวิตอยู่ในสหราชอาณาจักรมักเชื่อว่าอังกฤษมีสภาพอากาศที่เลวร้าย และเตรียมเดินทางไปประเทศนี้ด้วยการแพ็คทุกอย่างตั้งแต่เสื้อกันฝนไปจนถึงแจ็คเก็ตสกี แต่นี่เป็นเรื่องจริงหรือ? บอกเลยว่าไม่เสมอไป! ที่จริงแล้ว สภาพอากาศในอังกฤษมีความหลากหลายพอๆ กับวัฒนธรรมท้องถิ่น ภาษาถิ่น และผู้คนของที่นั่น และน่าสนใจกว่าที่คุณคิดมาก
หากคุณกำลังวางแผนไปเรียนที่สหราชอาณาจักร หรือแค่ไปเที่ยวช่วงสุดสัปดาห์ แล้วมี ‘ความวิตกกังวลเรื่องสภาพอากาศ’ อยู่บ้าง นี่คือเหตุผล 10 ข้อที่คุณสามารถทำใจให้สบายได้ (ระดับหนึ่ง):
1. สภาพอากาศเอาแน่เอานอนไม่ได้ แต่ก็น่าสนใจ
ใช่แล้ว ชาวอังกฤษมีชื่อเสียงในด้านการพูดถึงสภาพอากาศอยู่เสมอ ซึ่งไม่จริงเสมอไป แต่เป็นเรื่องจริงที่เรื่องนี้เป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจอยู่เสมอทั่วประเทศ เพื่อให้เป็นการยุติธรรมสำหรับชาวอังกฤษ พวกเขาไม่ได้ผิดอะไร เพราะที่นั่นอาจแดดจ้าอยู่ได้สักครู่ แล้วจู่ๆ ก็ฝนตกหนักขึ้นมาได้ แต่อย่างน้อยสภาพอากาศก็ไม่น่าเบื่อ!
2. อากาศร้อนถึงร้อนมาก
คุณอาจเคยได้ยินมาว่าฤดูร้อนของอังกฤษมีฝนตกบ่อย แต่นี่ไม่ใช่เรื่องจริง แน่นอนว่าบางปีอาจดีกว่าปีอื่นๆ (ฝนตกก็จริง แต่ฝนอุ่น!) แต่ที่จริงแล้วอังกฤษมีฤดูร้อนที่ค่อนข้างแห้งและร้อน โดยเฉพาะในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมาซึ่งฤดูร้อนทำลายสถิติ ‘ร้อนที่สุดที่เคยมีมา’ อยู่เป็นประจำ ทางใต้ของอังกฤษซึ่งรวมถึงเมืองอย่างลอนดอน บอร์นมัท ไบรตัน อีสต์บอร์น และบริสตอล มีชื่อเสียงด้านภูมิอากาศในฤดูร้อนที่สบาย ซึ่งร้อนแต่ไม่ถึงกับร้อนมากจนทนไม่ไหว
3. สภาพอากาศแตกต่างกันมากจากตะวันตกถึงตะวันออก
ให้คุณดูแผนที่สภาพอากาศของอังกฤษแล้วคุณจะเห็นรูปแบบ คือ สภาพอากาศบริเวณชายฝั่งตะวันตกโดยทั่วไปจะชุ่มฉ่ำมากกว่าชายฝั่งตะวันออก นั่นเป็นเพราะว่ามีกระแสอากาศอุ่นที่เรียกว่ากัลฟ์สตรีม (Gulf Stream) ที่นำอากาศร้อนข้ามสมุทรจากแถบแคริบเบียนมายังสหราชอาณาจักร ซึ่งผสมผสานกับอากาศหนาวเย็นจากไอซ์แลนด์และสแกนดิเนเวียทางทิศเหนือ และอากาศที่อบอุ่นจากสเปนและฝรั่งเศสทางทิศใต้ การปะทะกันของอุณหภูมิของอากาศทำให้เกิดฝน ซึ่งตกบริเวณฝั่งตะวันตกเพราะเป็นจุดที่สัมผัสกับกระแสอากาศอุ่นมากที่สุด
4. ปริมาณฝนจะแตกต่างกันไปในภูมิภาคต่างๆ
คุณจะพบฝนตกบริเวณชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือมากกว่าชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ แม้ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงใต้ของอังกฤษจะมีฝนตกน้อยกว่า แต่ก็อาจได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักได้มากกว่า ปริมาณฝนอาจแตกต่างกันไปภายในภูมิภาคเดียวกันด้วย บางพื้นที่ไม่มีฝนตกเพราะถูกบังด้วยเนินเขาและเทือกเขา
5. มีคำศัพท์ประมาณ 100 คำสำหรับฝน
แม้ฝนจะไม่ได้ตกในอังกฤษมากเท่าที่ใครๆ มักคิดกัน แต่ถ้ามีฝนตกเมื่อไหร่ คุณจะมีคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่แตกต่างกันกว่า 100 คำเพื่อใช้อธิบายถึงฝน คุณสามารถเลือกใช้คำศัพท์ต่างๆ เช่น deluge (น้ำท่วม) monsoon (ลมมรสุม) downpour (ฝนห่าใหญ่) drizzle (ฝนตกปรอยๆ) smattering (ฝนตกเล็กน้อย) buckets (ฝนตกหนัก)… และคำอื่นๆ อีกมากมาย
6. มีภูมิภาคของสภาพอากาศมากกว่า 10 แห่ง
กรมอุตุนิยมวิทยา (The Met Office) ซึ่งคอยตรวจสอบและพยากรณ์สภาพอากาศของสหราชอาณาจักรระบุว่ามีภูมิภาคของสภาพอากาศที่แตกต่างกันถึง 11 แห่งในอังกฤษ แต่เนื่องจาก 11 ภูมิภาคออกจะมากเกินไปที่จะจำ เราจะมาดูแค่ 4 ภูมิภาคหลัก ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งช่วงฤดูร้อนจะเย็นและช่วงฤดูหนาวจะไม่หนาวเย็นมากนัก ภาคตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งช่วงฤดูร้อนจะไม่ร้อนมากนักและฤดูหนาวมีอากาศหนาวเย็น ภาคตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งช่วงฤดูร้อนมีอากาศร้อนและช่วงฤดูหนาวมีอากาศหนาวเย็น และภาคตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งช่วงฤดูร้อนมีอากาศร้อนและช่วงฤดูหนาวไม่หนาวเกินไป ซึ่งทำให้อังกฤษเป็นประเทศที่น่าตื่นเต้นและน่าสนใจในการสำรวจในแง่ของสภาพอากาศเช่นกัน (หากคุณสนใจ นี่คือโร้ดทริปในอังกฤษที่ดีที่สุด 10 ทริปของเรา)
7. ลอนดอนมีอุณหภูมิที่ร้อนจัดและหนาวจัดมากที่สุด
หากคุณกำลังมองหาสภาพอากาศที่อบอุ่น คุณน่าจะอยากเลือกไปทางใต้ของอังกฤษ เพราะตามสถิติแล้วอบอุ่นมากกว่าทางเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งครอบคลุมเมืองอย่างบริสตอล ทอร์คีย์ และบอร์นมัทจะมีอากาศที่อบอุ่นกว่าตลอดทั้งปี แต่ลอนดอนและภาคตะวันออกเฉียงใต้เป็นบริเวณที่มีทั้งอุณหภูมิสูงสุดและต่ำสุด เนื่องจากได้รับผลกระทบจากลมจากภาคพื้นทวีปยุโรปซึ่งร้อนในช่วงฤดูร้อนและหนาวในช่วงฤดูหนาว
8. มองหาหิมะใช่ไหม**?** ไปทางเหนือสิ
สหราชอาณาจักรไม่ได้โด่งดังในเรื่องทิวทัศน์หิมะ (แม้ว่าชาวอังกฤษอาจจะหวังอยู่ลึกๆ) แต่ที่จริงแล้วก็มีพื้นที่ที่มีหิมะตกมาก ซึ่งทั้งหมดอยู่ทางเหนือ! สกอตแลนด์มีหิมะตกมากที่สุด ซึ่งก็สมเหตุสมผลเพราะที่นั่นอยู่บนละติจูดเดียวกับนอร์เวย์ สวีเดน และเดนมาร์ก แค่อย่าคิดจะไปดูหิมะที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ เพราะเป็นบริเวณที่หิมะตกน้อยที่สุดในอังกฤษ
9. บางครั้งก็มีพายุเฮอร์ริเคน**…**
ด้วยตำแหน่งที่ตั้งบนกัลฟ์สตรีม อังกฤษจึงโดนพายุเฮอร์ริเคนจากมหาสมุทรแอตแลนติกที่หลงเหลืออยู่เป็นครั้งคราว ซึ่งพายุมักจะไม่แตะต้องยุโรปภาคพื้นทวีป (อ้าว) พายุใหญ่ลูกล่าสุดที่พัดเข้าอังกฤษคือพายุโอฟีเลีย (Ophelia) ในปี ค.ศ. 2017 และพายุคริสเตียน (Christian) ในปี ค.ศ. 2013 พายุที่รุนแรงที่สุดน่าจะเป็นพายุเดอะ เกรท สตอร์ม (Great Storm) ในปี ค.ศ. 1987 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพราะพยากรณ์อากาศแจ้งทุกคนว่าไม่มีอะไรต้องกังวล! แต่ไม่ต้องห่วง พายุใหญ่ๆ ยังคงเกิดขึ้นน้อยมากในสหราชอาณาจักร
10. … และยังโดนแม้กระทั่งพายุทอร์นาโด (และจริงๆ แล้วเป็นเมืองหลวงแห่งทอร์นาโดของโลก!)
เราไม่ได้ล้อเล่น! นักวิทยาศาสตร์ศึกษาความถี่ของทอร์นาโดที่ได้รับรายงานต่อตารางไมล์ และสหราชอาณาจักรก็ขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งมากกว่าประเทศใดๆ ในโลก โอเค… ก็ได้ แต่พายุทอร์นาโดเหล่านี้น้อยครั้งนักที่จะสร้างความเสียหาย (คุณถอนหายใจโล่งอกได้) แต่ก็ยังเป็นสถิติที่น่าทึ่งและไม่คาดคิดมาก่อน