ทิป 10 ข้อสำหรับการเขียนจดหมายสมัครงานเพื่อหางานต่างประเทศ
การเขียนเรซูเม่และจดหมายแนะนำตัวนั้นเป็นเรื่องยาก แต่การเขียนเอกสารเหล่านี้เป็นภาษาอื่นยิ่งยากกว่า แต่เราคิดว่าการก้าวออกจาก “คอมฟอร์ตโซน” ซึ่งเป็นพื้นที่ที่คุณรู้สึกสบายใจเพื่อเดินตามความฝันที่จะทำงานต่างประเทศของคุณนั้นเป็นเรื่องที่เยี่ยมมาก (และคุ้มค่ากับความทุกข์ทรมานในการเขียนจดหมายสมัครงานทั้งหลาย!) ดังนั้น เราจึงเขียนบทความนี้เพื่อช่วยให้คุณไปถึงจุดนั้นได้ (หมายความตามนั้นจริงๆ)
ข้อเสนองานส่วนใหญ่เริ่มต้นด้วยจดหมายสมัครงานที่ดี และจดหมายสมัครงานที่ดีทุกฉบับจะต้องมีการค้นคว้าอย่างถี่ถ้วนมาก่อนเสมอ บทความที่มีประโยชน์นี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี จากนั้น ทิปบางข้อเหล่านี้น่าจะช่วยให้การสมัครงานของคุณประสบความสำเร็จได้:
รู้ความแตกต่างระหว่างเรซูเม่ (Resume) และซีวี (CV) ของคุณ
แม้ว่าคำทั้งสองจะใช้แทนกันได้ในภาษาอังกฤษ แต่เรซูเม่และซีวีไม่ใช่เอกสารเดียวกัน
ซีวีของคุณนั้นคือรายละเอียดอาชีพ การศึกษา และความสำเร็จของคุณ ซีวีจะรวบรวม (เกือบ) ทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณเคยทำมา และจะไม่เปลี่ยนแปลงไปในการสมัครงานแต่ละครั้ง คราวนี้ หากซีวีเปรียบดังภาพยนตร์เรื่องสมบูรณ์เกี่ยวกับอาชีพของคุณแล้ว เรซูเม่ก็จะเปรียบเสมือนตัวอย่างภาพยนตร์ โดยจะสั้นกว่ามาก โดยมากควรมีเพียงหน้าเดียวและไม่ควรเกินสองหน้า เรซูเม่จะเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากคุณต้องปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้เข้ากับงานที่คุณสมัคร โดยทั่วไป เรซูเม่จะครอบคลุมเฉพาะทักษะและความสำเร็จสำคัญๆ สำหรับงานเฉพาะอย่าง และควรให้ข้อมูลแก่ผู้จ้างงานเกี่ยวกับภาพรวมของตัวคุณและสิ่งที่คุณสามารถมอบให้กับบริษัทได้
รู้ว่าเวลาใดควรใช้เอกสารใด
แต่เดี๋ยวก่อน ยังมีมากกว่านั้น เอกสารทั้งสองยังถูกใช้แตกต่างกันทั่วโลกอีกด้วย ข้อมูลจาก Undercover Recruiter ระบุว่า ชาวอเมริกาเหนือมักชอบเรซูเม่มากกว่า (หากไม่ได้มีการขอเป็นอย่างอื่น หรือเป็นการสมัครงานทางวิชาการหรือเกี่ยวกับการศึกษาวิจัย) ในขณะที่บริษัทจัดหาผู้สมัครและผู้จ้างงานในสหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ ยุโรป และนิวซีแลนด์มักใช้เฉพาะซีวี และเพื่อให้สิ่งต่างๆ ง่ายขึ้นอีกเล็กน้อย ชาวออสเตรเลีย อินเดีย และแอฟริกาใต้จึงใช้สองคำนี้แทนกันได้ และตามหลักการง่ายๆ เรซูเม่ดูเหมือนจะเป็นที่ชื่นชอบมากกว่าในภาคเอกชน ในขณะที่ซีวีจะใช้สมัครงานในตำแหน่งของรัฐ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ดีที่สุดคือการถาม (ฝ่ายทรัพยากรบุคคลหรือเพื่อนที่เป็นคนท้องถิ่น) ว่าคุณต้องให้รายละเอียดมากแค่ไหน
เลือกภาษาที่ถูกต้อง
ให้เขียนจดหมายสมัครงานในภาษาเดียวกับประกาศรับสมัครงาน คุณสามารถเพิ่มเวอร์ชั่นแปลได้เสมอหากภาษาในประกาศรับสมัครงานไม่ใช่ภาษาประจำชาติ (เช่น หากคุณตอบประกาศรับสมัครงานที่ใช้ภาษาอังกฤษในประเทศเยอรมนี คุณสามารถยื่นหลักฐานการสมัครในทั้งภาษาอังกฤษและเยอรมันได้ แต่ภาษาอังกฤษจะสำคัญกว่า) คุณอาจสร้างโปรไฟล์ใน LinkedIn เป็นภาษาต่างๆ และส่งลิงค์ให้แทนเอกสารอีกฉบับ
ปรับแต่ง ปรับแต่ง ปรับแต่ง
คุณต้องปรับแต่งจดหมายสมัครงานของคุณให้เหมาะสมกับแต่ละประเทศ แต่ละงาน และแต่ละบริษัทเสมอ หากคุณมีจดหมายสมัครงานที่ยอดเยี่ยมซึ่งแสดงให้เห็นว่าคุณได้ค้นคว้าหาข้อมูลมาล่วงหน้า คุณอาจได้รับการผ่อนผันในเรื่องความเป็นทางการที่ขาดหายไปหรือผิดพลาด ให้คุณเลือกเฉพาะส่วนที่ดีที่สุดและมีความเกี่ยวข้องกับงานมากที่สุดจากซีวีเพื่อใส่ลงในเรซูเม่หรือจดหมายแนะนำตัวของคุณ จากนั้นจึงแก้ไข ลบ และจัดเรียงข้อมูลใหม่อย่างเต็มที่เพื่อดึงดูดผู้อ่านของคุณ
เปิดเผยเรื่องใบอนุญาตทำงานและทักษะภาษา
ใส่ข้อมูลสถานะวีซ่าของคุณและประเภทของใบอนุญาตทำงานที่คุณมี อย่าปิดบังหรือข้ามข้อมูลนี้ไป เพราะบริษัทจัดหาผู้สมัครจะทราบข้อมูลนี้ในที่สุด ดังนั้น ให้คุณช่วยประหยัดเวลาให้พวกเขาและเปิดเผยสถานะของคุณอย่างตรงไปตรงมา และให้ทำเช่นเดียวกันกับทักษะภาษา ถ้าคุณระบุว่าคุณใช้ภาษาใดภาษาหนึ่งได้คล่องแคล่ว เจ้าของภาษาจะทราบทันทีว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ นี่ไม่ใช่ที่ที่คุณจะโกงและโอ้อวดเกินจริง
ปฏิบัติตามกฎเรื่องรูปถ่าย
การเพิ่มรูปถ่ายที่ดูเป็นมืออาชีพและมีความคมชัดสูงลงในจดหมายสมัครงานของคุณไม่ใช่ความคิดที่ดีเสมอไป ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย คุณไม่ควรแนบรูปถ่ายไปด้วย แต่ในเยอรมนีและฝรั่งเศสนั้น คุณต้องแนบรูปถ่ายเข้าไป ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการค้นคว้าหาข้อมูลในเรื่องนี้ จดหมายสมัครงานหลายต่อหลายฉบับถูกโยนทิ้งเพราะผู้สมัครเหล่านั้นไม่ทำตามกฎ (เกี่ยวกับรูปถ่าย) (โดยทั่วไป ไม่ได้เป็นเพราะคุณถ่ายรูปไม่ขึ้น แต่เป็นเหตุผลทางกฎหมายเนื่องจากผู้จ้างงานไม่ต้องการเสี่ยงต่อการถูกกล่าวหาว่าแบ่งแยกตามรูปลักษณ์ภายนอก) หากคุณไม่แน่ใจเกี่ยวกับรูปถ่าย คุณสามารถเพิ่ม URL ของ LinkedIn (ที่ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมแล้ว) ลงในเฮดเดอร์ของเรซูเม่ของคุณได้เสมอ บริษัทจัดหาผู้สมัคร/ เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลจะได้มีโอกาสได้เห็นหน้าของคุณ
พบกับทางลัดขั้นสุดยอดสำหรับประเทศในยุโรป
หากคุณต้องการทำงานในยุโรป คุณไม่ถึงกับต้องออกแบบเครื่องมือสมัครงานใหม่ ลองเข้าไปดูที่ Europass เครื่องมือออนไลน์ที่จะช่วยให้คุณสามารถหาเอกสารที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อแสดงให้เห็นทักษะและคุณสมบัติของคุณในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ซึ่งรวมถึงเทมเพลตสำหรับซีวีและจดหมายแนะนำตัวของคุณด้วย
ใส่ใจกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ
เมื่อคุณค้นคว้าหาข้อมูล ให้คุณใส่ใจเป็นพิเศษในรายละเอียดที่สามารถตัดสินการสมัครงานได้ก่อนที่ใครๆ จะได้อ่านเรื่องความสำเร็จและประสบการณ์ของคุณด้วยซ้ำ ตัวอย่างเช่น ในประเทศเยอรมนี คุณต้องลงชื่อและลงวันที่ในส่วนท้ายของซีวี ในญี่ปุ่น คุณต้องกรอก (บางครั้งก็ต้องเขียนด้วยลายมือ!) rirekisho เรซูเม่ของญี่ปุ่นที่มีกฎเข้มงวดมาก หรือ shokumu keirekisho ที่แสดงให้เห็นประสบการณ์การทำงานของคุณ ในประเทศยุโรปหลายแห่ง คุณจะต้องระบุอายุ (วันเกิด) สถานภาพการสมรส และแม้กระทั่งจำนวนบุตร ซึ่งการใส่ข้อมูลเหล่านี้จะทำให้คุณพลาดงานในสหรัฐอเมริกา (ฉะนั้นจงอย่าทำ!) รายละเอียดที่สำคัญอื่นๆ ที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศคือการใส่ (หรือไม่ใส่) อาชีพ จุดประสงค์ ข้อมูลอ้างอิง เกรด (ที่แปลงแล้ว) และจำนวนเอกสารที่คุณต้องส่งไปพร้อมกับจดหมายสมัครงานของคุณ
กรอกหมายเลขให้ถูกต้อง
มาสนใจในรายละเอียดให้มากขึ้นกันเถอะ คุณจะได้แต้มเพิ่มอีกมากเมื่อคุณเพิ่มรหัสประเทศลงในหมายเลขโทรศัพท์ของคุณ หรือแม้กระทั่งการระบุความแตกต่างของเวลา รวมทั้งการระบุวันที่ให้ถูกต้อง (ลำดับของวัน เดือน ปี) และเลือกรูปแบบกระดาษที่ถูกต้อง (ในกรณีที่มีการพิมพ์จดหมายสมัครงาน) สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าคุณได้ทำการบ้านมาและเป็นผู้ที่ใส่ใจในรายละเอียดจริงๆ ตามที่ได้กล่าวไว้
ขอความช่วยเหลือ
จดหมายสมัครงานควรได้รับการตรวจสอบตัวสะกดและตรวจทานเนื้อหาให้ครบถ้วนทุกประการ ถ้าคุณสามารถทำได้ ควรให้เจ้าของภาษาที่มีความรู้เรื่องไวยากรณ์ สไตล์ และการสมัครงานตรวจทานเอกสารให้ หากคุณต้องการสมัครงานในประเทศใดประเทศหนึ่งและยินดีที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้รับการจ้างงานแล้วละก็ การจ้างนักเขียนเรซูเม่มืออาชีพในท้องถิ่นก็อาจเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า