13 สำนวนสำคัญที่ต้องรู้ในภาษาที่สองของคุณ
Hallo zusammen! ภาษาอังกฤษคือภาษาแม่ของฉัน และฉันได้พยายามเรียนรู้ภาษาเยอรมัน ฉันได้รับทิปที่มีประโยชน์มากมายเกี่ยวกับวิธีฝึกภาษาให้คล่อง ไม่ว่าจะเป็นแอปเรียนภาษาไปจนถึงการดูโทรทัศน์ภาษาเยอรมัน แต่ตัวช่วยเหล่านี้สามารถช่วยฉันได้แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น ฉันรู้ดีว่าฉันจำเป็นต้องเริ่มต้นพยายามสื่อสารด้วยภาษานั้นๆ แต่…จะเริ่มตรงไหนดีล่ะ?
หากคุณต้องการเริ่มสนทนา การรู้จักสำนวนพื้นฐานบ้างนั้นถือเป็นความคิดที่ดี การมีพื้นฐานดังกล่าวจะทำให้คุณสามารถเริ่มต้นพูดภาษาได้ง่ายขึ้นในช่วงเริ่มต้น
และนี่คือสำนวนที่มีประโยชน์ 13 สำนวนที่จะช่วยให้คุณสามารถเข้าร่วมในการสนทนาได้
Hello (สวัสดี)
ตอนที่ฉันย้ายไปอยู่สวิตเซอร์แลนด์ ฉันได้เตรียมตัวที่จะกล่าวคำว่า “hallo” เมื่อเริ่มเกริ่นนำ แต่กลับได้พบในภายหลังว่า คำกล่าวทักทายที่ใช้กันโดยทั่วไปมากกว่าคือคำว่า “gruetzi” (หรือ “gruetzer” หากคุณอยู่ในพื้นที่ของ Bern) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณไม่รู้จักคนๆ นั้นดีเท่าไหร่ อีกตัวเลือกที่ไม่เป็นทางการมากๆ คือคำว่า “hoi” ซึ่งคล้ายกับคำว่า “hi” มาก
การได้รู้จักคำทักทายในแบบต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นก้าวใหญ่ที่ช่วยให้ฉันสามารถพูดคุยกับทุกคนได้ ตั้งแต่เพื่อนบ้าน เจ้าของร้านค้า ไปจนถึงสมาชิกในครอบครัว ในระหว่างที่คุณกำลังเรียนภาษาที่คุณต้องการ การค้นคว้าสำนวนที่ใช้กันโดยทั่วไปในรูปแบบต่างๆ จากภูมิภาคที่คุณต้องการเดินทางไปถือเป็นไอเดียที่ดี
My name is ________. What’s yours? (ฉันชื่อ ________ แล้วคุณล่ะ?)
โอเค ถึงตอนนี้คุณก็เข้าสู่บทสนทนาอย่างเป็นทางการแล้ว ตอนนี้ถือเป็นเวลาที่ดีในการบอกชื่อของคุณและรู้จักชื่อของเพื่อนๆ แม้ว่าสิ่งอื่นๆ ที่คุณพูดทั้งหมดจะยังไม่ค่อยคล่องเท่าไหร่ แต่อย่างน้อยคุณก็จะรู้ว่า คุณกำลังคุยกับใครอยู่
Please & thank you (กรุณา และ ขอบคุณ)
การทำตัวให้สุภาพเป็นสิ่งที่ใช้ได้ผลในทุกภาษา ฉันเชื่อมั่นว่ายิ้มสวยๆ และมารยาทที่งดงามสามารถชดเชยได้แม้กระทั่งสำเนียงที่แย่ที่สุด ดังนั้น แม้ว่าคุณจะหมดคำพูดแล้ว คุณก็ยังทำให้อีกฝ่ายคิดว่าคุณเป็นคนน่ารักจัง!
I don’t speak your language well (ฉันพูดภาษาของคุณไม่คล่อง)
ในช่วงสัปดาห์แรกที่ฉันอยู่ในซูริค มีคนเดินเข้ามาหาฉันเพื่อถามว่า ฉันจะช่วยพวกเขาหาของบางอย่างได้ไหม พวกเขาพูดเร็ว เลยพูดจบไปแล้วประมาณสองประโยคก่อนที่ฉันจะมีโอกาสบอกพวกเขาว่าฉันยังพูดภาษาเยอรมันได้ไม่ดีเท่าไหร่ ในที่สุด ฉันก็สามารถปะติดปะต่อสิ่งที่พวกเขาพูดได้มากพอที่จะให้ความช่วยเหลือ แต่นั่นจะไม่มีวันเกิดขึ้นได้เลยถ้าฉันไม่ได้บอกพวกเขาว่า ฉันต้องการให้พวกเขาพูดช้าๆ และชัดๆ
I’m sorry/excuse me (ฉันขอโทษ/ ขอโทษนะครับ/ ค่ะ)
ในระหว่างที่ชีวิตดำเนินไป บางครั้งคุณก็อาจจะทำผิดพลาด เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องรู้วิธีกล่าวคำขอโทษหรือขออภัยเวลาที่สิ่งต่างๆ ไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้
Can you please repeat that? (คุณช่วยพูดซ้ำอีกครั้งได้ไหม?)
เมื่อฉันพยายามพูดภาษาเยอรมัน บ่อยครั้งที่ฉันไม่เข้าใจสิ่งที่ใครบางคนพูดขึ้นมาในครั้งแรก การขอให้พูดซ้ำโดยพูดว่า “kannst du das bitte wiederholen” สามารถช่วยได้เป็นครั้งคราว
Goodbye (ไปก่อนนะ)
เมื่อถึงเวลาจากกัน การสามารถกล่าวคำอำลาได้เป็นสิ่งที่สุภาพ มันจะดูแปลกที่จะออกจากห้องไปเงียบๆ หรือแค่หยุดคุยแล้วจู่ๆ ก็หันหลังให้ในระหว่างที่กำลังสนทนากันอยู่ นั่นไม่ใช่วิธีการผูกมิตรกับเพื่อนใหม่ ไม่ว่าจะในภาษาใดก็ตาม
I need help (ฉันต้องการความช่วยเหลือ)
นี่คือหนึ่งในสำนวนที่คุณจะไม่อยากลืม คุณอาจจำเป็นต้องใช้ประโยคนี้เมื่อคุณต้องการขอให้ผู้อื่นช่วยอ่านฉลากที่ร้านขายของชำเฉยๆ แต่ถึงกระนั้น การรู้จักสำนวนนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้มั่นใจว่า คุณจะได้รับความช่วยเหลือเมื่อคุณต้องการ
Call the ambulance/police (โทรเรียกรถพยาบาล/ ตำรวจ)
แม้ว่าการที่คุณทราบหมายเลขบริการฉุกเฉินในท้องถิ่นจะเป็นความคิดที่ยอดเยี่ยม แต่คุณก็ยังควรเรียนรู้สำนวนนี้เผื่อเอาไว้
Where is the restroom/bathroom? (ห้องน้ำ/ห้องอาบน้ำอยู่ที่ไหน?)
นี่เป็นหนึ่งในความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ คุณจะไม่อยากลืมสำนวนนี้ด้วยเหตุผลที่ใครๆ ก็ทราบกันดี
How much does this cost? (นี่ราคาเท่าไหร่?)
คุณคงไม่อยากพบว่าตนเองใช้เงินเกินกว่าที่วางแผนไว้หรือคาดว่าจะต้องจ่าย นอกจากนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนใดๆ เกี่ยวกับราคา คุณควรใช้เวลาส่วนหนึ่งเรียนรู้ชื่อสกุลเงินในท้องถิ่น และอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อเทียบกับสกุลเงินในประเทศของคุณอยู่เสมอ
Numbers 1-100 (เลข 1-100)
ข้อนี้จะใช้เวลาในการเรียนรู้นานกว่าข้ออื่นๆ เล็กน้อย แต่ก็คุ้มค่าที่จะเข้าใจตัวเลขในภาษาที่คุณเลือก ซึ่งอาจหมายถึงข้อแตกต่างระหว่างการบอกใครสักคนว่าคุณจะไปที่นั่นภายใน 15 นาที หรือ 50 นาที ในภาษาเยอรมัน มันเป็นเรื่องที่ยากลำบากสำหรับฉันอย่างที่สุดที่จะต้องจำความแตกต่างระหว่างตัวเลขที่ขึ้นต้นด้วยสิบ และตัวเลขที่ลงท้ายด้วยสิบ ผลก็คือ ฉันมักจะพูดว่า vierzehn (14) เวลาที่ฉันตั้งใจจะพูดว่า vierzig (40) หรือ siebzig (70) เวลาที่ฉันหมายถึง siebzehn (17) อยู่บ่อยๆ แต่เดี๋ยวคุณก็จะพูดได้ถูกต้องเองเมื่อเวลาผ่านไป กุญแจสำคัญคือการหมั่นฝึกฝนเท่านั้นเอง
Do you speak English? (คุณพูดภาษาอังกฤษหรือเปล่า?)
ด้วยทักษะภาษาเยอรมันระดับน้องใหม่ของฉัน ฉันสามารถเดินทางไปรอบๆ ซูริคได้อย่างสบายๆ แต่เมื่อเป็นบทสนทนาที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น อย่างเช่นบทสนทนาเวลาที่คุณไปพบแพทย์หรือทันตแพทย์ ก็จะท้าทายความสามารถของฉันมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ฉันจึงพยายามหาใครสักคนที่พูดภาษาอังกฤษได้ เพื่อให้เราสามารถสื่อสารกันได้ชัดเจนยิ่งขึ้น