ทิป 7 ข้อเพื่อพัฒนาทักษะการเขียนภาษาอังกฤษของคุณ
ไม่ว่าจะเป็นการซื้อตั๋วรถบัส ไปหาหมอ หาห้องเช่า หรือแค่อ้าปากคุยเรื่องทั่วๆ ไป ผู้เรียนภาษาอังกฤษส่วนใหญ่มักจะอยากพูดได้เร็วๆ ก่อนเป็นอันดับแรก เพราะสุดท้ายแล้ว คุณเรียนภาษาอังกฤษเพื่อสื่อสารนี่ จริงไหม
แต่อย่าลืมว่า การเขียนก็เป็นอีกหนึ่งแง่มุมในการสื่อสารที่สำคัญอย่างมาก แม้ว่าเราจะอยู่ในยุคสมัยของ Snapchat และ Instagram อย่างทุกวันนี้ ดังนั้น ในบทความนี้ เราจึงได้รวบรวมสุดยอดทิปที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง 7 ข้อ เพื่อพัฒนาทักษะการเขียนภาษาอังกฤษของคุณ
อ่าน อ่าน อ่าน
ฟังดูคุ้นๆ ใช่ไหม? ไม่ใช่คุณคนเดียวหรอกที่รู้สึกแบบนี้ “อ่านเพิ่ม” คือคำแนะนำเพื่อพัฒนาทักษะการเขียนที่พบได้บ่อย เพราะมันได้ผลจริงๆ การอ่านทำให้คุณรู้จักคำศัพท์ใหม่ๆ ตัวเลือกในการใช้คำที่น่าสนใจ และสำนวนเพราะๆ ที่คุณสามารถใช้ในงานเขียนของคุณได้ ไม่ต้องกังวลว่าคุณ “ควร” อ่านอะไรดี ประเด็นก็คือ ให้อ่านบ่อยๆ อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นนิยาย สารคดี บล็อก บทความข่าว นิตยสาร ตราบใดที่เป็นงานเขียน (และเขียนได้ดี) ให้คุณลุยอ่านไปเลย!
เลิกใช้คำต่อไปนี้
เพื่อผลักดันให้งานเขียนของคุณข้ามผ่านขีดจำกัดและก้าวหน้าขึ้นสู่อีกระดับ ให้คุณเลิกใช้คำว่า very, really, quite, good, got, stuff และ things ในงานเขียนของคุณ คุณอาจสงสัยว่า การเลิกใช้คำง่ายๆ เพียงไม่กี่คำเหล่านี้จะช่วยพัฒนาทักษะการเขียนของคุณได้อย่างไร เหตุผลก็คือ คำเหล่านี้ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่ช่วยสื่อสารให้ชัดเจน และหากไม่ใส่คำเหล่านี้ ข้อความของคุณก็จะยังคงมีความหมายเหมือนเดิม แถมอ่านแล้วดูดีกว่าเดิมอีกเยอะด้วย
ทิปพิเศษ**:** แทนที่ “very/really + คำคุณศัพท์” ด้วย “คำคุณศัพท์ที่มีความหมายสุดขั้ว” เช่น Very hungry จะกลายเป็น ravenous การ run really fast จะกลายเป็น sprint และ r_eally dirty_ จะกลายเป็น filthy เมื่อคุณเขียนงาน จะมีคำคุณศัพท์เหล่านี้หลายร้อยคำให้คุณเลือกใช้
ใช้พจนานุกรมคำเหมือน (Thesaurus)
หลังจากที่คุณลบคำไร้ประโยชน์ดังกล่าวออกจากงานเขียนของคุณแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะเลือกคำสวยๆ มาใช้แทน นี่เป็นจุดที่เพื่อนสนิทคนใหม่ของคุณที่ชื่อ Thesaurus (พจนานุกรมคำเหมือน) จะก้าวเข้ามามีบทบาท ให้ใช้พจนานุกรมคำเหมือนเพื่อเปลี่ยนคำที่คุณใช้บ่อยเกินไปให้เป็นคำอื่นที่น่าสนใจมากกว่า เหมาะสมกว่า หรือเป็นคำขั้นสูงกว่า (เช่น cloth à fabric; money à cash; change à alter; happy à glad; decorate à embellish; improve à enhance) หลีกเลี่ยงการใช้คำพื้นๆ หรือคำศัพท์ระดับเริ่มต้น และพยายามทำให้งานเขียนของคุณดูมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น แต่ต้องระวังอย่าทำให้มากเกินไป งานเขียนของคุณยังต้องอ่านแล้วเป็นธรรมชาติ และเหมาะกับกลุ่มผู้อ่านที่คุณเลือกด้วย (ดูข้อ 5)
ใช้และสังเกตกลุ่มคำที่ใช้ร่วมกัน (Collocations)
กลุ่มคำที่ใช้ร่วมกัน (Collocations) คือคำที่มักใช้ร่วมกัน แม้ว่าการผสมคำแบบอื่นๆ จะถูกต้องตามหลักไวยากรณ์เหมือนกันก็ตาม ให้ลองนึกถึงกลุ่มคำภาษาอังกฤษอย่าง “heavy rain” ตามหลักไวยากรณ์แล้ว คุณสามารถใช้คำว่า “strong rain” ได้เช่นกัน แต่จะฟังดูแปลกหู กลุ่มคำที่ใช้ร่วมกันอื่นๆ เช่น weak tea (ไม่ใช่ feeble tea), excruciating pain (ไม่ใช่ excruciating joy), tall trees (ไม่ใช่ high trees), buy time (ไม่ใช่ purchase time) และ fast cars (ไม่ใช่ quick cars) และอื่นๆ อีก_มากมาย_ เมื่อคุณเริ่มคุ้นเคยกับกลุ่มคำที่ใช้ร่วมกันซึ่งพบได้บ่อยแล้ว งานเขียนของคุณจะฟังดูเป็นธรรมชาติยิ่งขึ้น
เพื่อให้คุณรู้จักกลุ่มคำที่ใช้ร่วมกันมากขึ้น ให้เริ่มด้วยคำพื้นฐาน เช่น make, do, get, break, tell แล้วค้นคว้าหากลุ่มคำที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ คุณยังสามารถเริ่มด้วย “ประเภท” ของกลุ่มคำที่ใช้ร่วมกันแล้วท่องจำ 2-3 ตัวอย่าง ตัวอย่างของประเภทกลุ่มคำที่ใช้ร่วมกัน เช่น
คำกริยาวิเศษณ์ + คำคุณศัพท์ (เช่น completely satisfied, widely available, bitterly disappointed)
คำคุณศัพท์ + คำนาม (เช่น strong coffee, heavy traffic, severe weather)
คำกริยา + คำนาม (เช่น commit suicide, do your homework, make amends)
คำนาม + คำนาม (เช่น a surge of anger, liquor licence, panic attack)
รู้จักผู้อ่านของคุณ
เมื่อคุณเขียนงาน เป็นสิ่งสำคัญมากที่จะต้องเขียนให้_เหมาะ_กับผู้อ่านของคุณ ลองคิดดูว่า ภาษาที่คุณใช้ในการอัพเดตประวัติส่วนตัว (CV) ของคุณจะแตกต่างจากภาษาที่คุณใช้ในการเขียนเรียงความที่มหาวิทยาลัย หรือในบทความในบล็อกส่วนตัวของคุณ โดยหลักแล้ว ความแตกต่างคือโทนและการเลือกใช้คำของคุณ ดังนั้น ก่อนที่จะพิมพ์ข้อความเดิมๆ ให้คุณพิจารณาว่า:
งานเขียนของคุณเป็นทางการหรือไม่ เช่น เป็นจดหมายสมัครเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย จดหมายสมัครงาน หรือเรียงความหรือไม่ งานเขียนเหล่านี้:
มักจะซับซ้อน โดยมีประโยคที่ยาวขึ้น และมีประเด็นที่ได้รับการขยายความอย่างละเอียดขึ้น
แสดงอารมณ์ความรู้สึกน้อยกว่า และไม่ได้เขียนเพื่อกระตุ้นอารมณ์ผู้อ่าน
โดยทั่วไปจะใช้คำเต็มและไม่ใช้ตัวย่อ (เช่น cannot, would not have, television)
ในทางกลับกัน คุณอาจเขียนงานที่ไม่เป็นทางการ เช่น บล็อก จดหมายส่วนตัว หรือข้อความโฆษณา ในกรณีนี้:
คุณสามารถใช้ภาษาที่ง่ายขึ้นและประโยคที่สั้นลง เพื่อแบ่งความคิดออกเป็นประเด็นย่อย
ใช้ตัวย่อต่างๆ (เช่น can’t, wouldn’t have, TV)
ใช้ภาษาพูด และเขียนราวกับว่าคุณกำลังพูดกับผู้อ่านโดยตรง (ซึ่งรวมถึงการใช้คำสแลง อุปมาโวหาร คำพูดในวงเล็บ และคำสรรพนามส่วนตัว (I, you, my, your…)
กระตุ้นความเห็นอกเห็นใจและอารมณ์
ใช้ประโยคที่ประธานเป็นผู้กระทำ มากกว่าประโยคที่ประธานเป็นผู้ถูกกระทำ
เพื่อให้งานเขียนของคุณสื่อความหมายชัดเจนยิ่งขึ้นและกระชับขึ้น โดยทั่วไปแล้ว การใช้ประโยคที่ประธานเป็นผู้กระทำ จะดีกว่าประโยคที่ประธานเป็นผู้ถูกกระทำ (เช่น: “The shark bit the surfer.” ฟังดูชัดเจนกว่าและกระตุ้นอารมณ์มากกว่า “The surfer was bitten by the shark.”)
แม้ในหลายๆ กรณีจะมีเหตุผลดีๆ ในการใช้ประโยคที่ประธานเป็นผู้ถูกกระทำ เช่น เมื่อพูดในเชิงสั่ง (เช่น “Children are not allowed to swim without an adult.”) หรือเพื่อหลีกเลี่ยงการพูดถึงประธานของประโยคอย่างแนบเนียน (เช่น “The cause of the confusion was unknown”) แต่คุณไม่ควรใช้ประโยคในรูปแบบนี้มากเกินไป
อย่าเขียนโดยไม่สนใจสิ่งรอบข้าง
การเรียนรู้คนเดียวเป็นเรื่องที่ยากมาก ฉะนั้น ให้คุณกล้าที่จะขอคำติชมเกี่ยวกับงานเขียนของคุณ ผู้ตรวจทานที่ดีคือเจ้าของภาษาอังกฤษ ที่มีความสนใจในการเขียนและภาษา หรือผู้ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของภาษาที่มีความรู้ในระดับขั้นสูง หลังจากผู้ตรวจทานได้ตรวจงานเขียนของคุณแล้ว ให้นำคำแนะนำของพวกเขาไปปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ แล้วขอความเห็นสุดท้ายก่อนส่งงานหรือเผยแพร่งานของคุณ