9 เคล็ดลับ วิธีจำศัพท์ใหม่ได้อย่างไว
ต่อให้ไวยากรณ์ทางภาษาของเราจะดีแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าไม่รู้จักคำศัพท์ที่เหมาะสมที่จะใช้กับไวทยากรณ์เหล่านั้น เราก็อาจจะไม่ได้พัฒนาทักษะทางภาษาอย่างเท่าที่ควร การเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆคือการเปิดประตูสู่โลกใหม่ ทำให้การเรียนรู้เป็นเรื่องสนุกและน่าตื่นเต้น
แต่การเพิ่มจำนวนคำศัพท์ก็เหมือนกับการควบคุมอาหาร จำเป็นต้องใช้ความพยายามบางอย่าง ไม่มีเทคนิคพิเศษ สูตรลับ หรือวิธีการเดียวที่จะทำได้ แต่ละคนจะต้องค้นหาเทคนิคที่เหมาะสมกับตัวเอง การมีความอดทน การตั้งเป้าหมายที่เป็นจริง และการให้รางวัลตัวเองเมื่อบรรลุเป้าหมาย ล้วนเป็นกลยุทธ์ที่ดีที่สามารถเสริมด้วยเคล็ดลับอื่นๆต่อไปนี้
1. ใช้เทคนิคการจำ
วิธีที่เป็นที่นิยมในการจำคำศัพท์คือการใช้นีโมนิคส์ (mnemonics) หรือตัวช่วยจำ ซึ่งเป็นเหมือนทางลัดทางความคิดที่ช่วยให้จำคำศัพท์หรือคอนเซ็ปต์ที่ซับซ้อนมากขึ้น ตัวอย่างเช่น เราสามารถสร้างการเชื่อมโยงระหว่างคำต่างๆได้ สมมติว่าเราไม่รู้วิธีสะกดคำว่า “accommodation” ที่หมายถึงที่พัก ก็ให้จำว่า ที่พักจะมีเตียงเด็ก 2 เตียง (2 Cots) ที่ต้องใช้ที่ฟูกที่นอน 2 อัน (2 Mattresses) ก็จะจำได้ว่า accommodation มีตัว c และตัว m สองตัว หรือไม่ก็คิดคำย่อ (acronym) เช่น เมื่อจะต้องไปที่ร้านค้า (STORE) ก็เพื่อไปซื้อสปาเก็ตตี้ (Spaghetti) มะเขือเทศ (Tomato) มะกอก (Olive) ข้าว (Rice) ไข่ (Egg) แน่นอนว่ายังจำเป็นต้องจำตัวย่อ เพลง หรือการเชื่อมโยงที่เราคิดขึ้นมา แต่ด้วยการฝึกฝนเพียงเล็กน้อย ก็จะสามารถสร้างวิธีช่วยจำของตัวเองที่สร้างสรรค์และมีประโยชน์ได้ดี และยิ่งคิดเกี่ยวกับคำย่อหรือการเชื่อมโยงนานเท่าไหร่ ก็จะยิ่งจำคำศัพท์ที่มาพร้อมกับคำนั้นได้ดีขึ้น
2. สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้
ถ้าไปเรียนในต่างประเทศ คำศัพท์จะอยู่รอบๆตัวเรา เราจะได้ยินและเห็นคำศัพท์ได้ทุกที่ และทำให้เรียนรู้ได้เร็วขึ้นมากผ่านการใช้ภาษาในสภาพแวดล้อมนั้นๆ (immersion) แต่ก็ไม่จำเป็นต้องไปต่างประเทศเพื่อค่อยๆเพิ่มจำนวนคำศัพท์ คุณสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่มีชีวิตชีวาและเอื้อต่อการเรียนรู้ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการซื้อนิตยสารหรือหนังสือที่เป็นภาษาที่กำลังเรียนอยู่ ดูหนังในภาษานั้น ลองชิมหรือทำอาหารของประเทศที่พูดภาษานั้น
3. เรียนรู้ศัพท์จากบริบท
วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เรียนรู้ศัพท์ใหม่ได้ดีขึ้นคือการเรียนรู้ศัพท์จากบริบท (context) แทนที่การเขียนลิสต์คำศัพท์แบบเปล่าๆ ให้ลองใส่คำศัพท์เหล่านั้นในประโยค ด้วยวิธีนี้จะทำให้รู้ว่าคำนี้ใช้ในชีวิตจริงอย่างไร นอกจากนี้หากเราคิดประโยคตลกๆก็จะจดจำได้ง่ายขึ้น หรือสามารถวาดภาพหรือค้นหารูปภาพที่จะช่วยให้เข้าใจประโยคนั้นได้ดีขึ้น การใส่คำลงในบริบทตามที่คนใช้กันตามจริงจะช่วยให้สามารถใช้ภาษาได้เป็นธรรมชาติมากขึ้น
4. เรียนรู้จากสถานการณ์ในชีวิตจริง
ภาพยนตร์ รายการทีวี หนังสือ พอดแคสท์ หรือเพลงไม่เพียงแต่เป็นแหล่งข้อมูลที่ดีสำหรับการได้มาซึ่งคำศัพท์ใหม่ๆที่ใช้โดยทั่วไปเท่านั้น แต่ยังช่วยให้สามารถจดจำคำศัพท์ได้ เนื่องจากคำศัพท์จะเชื่อมโยงกับฉาก บุคคล หรือเหตุการณ์ในเรื่องและในชีวิตจริง ดังนั้นลองอ่านหนังสือหรือดูภาพยนตร์ในภาษาต้นฉบับ (พร้อมคำบรรยาย) และค้นหาความหมายของคำเหล่านั้น หากเห็นหรือได้ยินวลีหรือประโยคที่ไม่เข้าใจ ก็ให้จดไว้ ค้นหาความหมาย และเริ่มฝึกจำ
5. ก้าวไปอีกขั้น
หากต้องการยกระดับการเรียนรู้ภาษาให้สูงขึ้น ให้เตรียมพื้นที่สมองให้เพียงพอสำหรับการทำแผนที่ความคิด (mind map) ของคำศัพท์ที่เชื่อมโยงกัน คำพ้องความหมาย (synonyms) หรือคำตรงกันข้าม (antonyms) และเพื่อให้การเรียนรู้เกิดประโยชน์สูงสุด พยายามอย่าแปลคำศัพท์เป็นภาษาหลักของคุณ แต่ให้อธิบายคำศัพท์ด้วยภาษาที่คุณพยายามเรียนรู้แทน
6. ค้นหาเครื่องมือที่เหมาะกับตัวเรา
ทุกคนมีวิธีเรียนรู้ที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นหากไม่รู้ว่าอะไรเหมาะกับตัวเอง ให้ลองหลายๆวิธีหรือหลายๆเทคนิครวมกันเท่าที่จะเป็นไปได้ การใช้บัตรคำศัพท์ แอพ ลิสต์ เกม หรือโพสต์อิท เป็นวิธีที่มีประสืทธิภาพในการจำคำศัพท์ เช่นเดียวกับการหาเวลาที่เหมาะสม บางคนต้องการเวลาเพิ่มเติมเพื่อเรียนโดยเฉพาะ บางคนเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเลือกแนวทางใด ต้องไม่ลืมที่จะทำอย่างสม่ำเสมอ เพราะการฝึกฝนจะทำให้พัฒนาได้อย่างสมบูรณ์แบบในที่สุด
7. ลองฝึกหลายๆอย่างพร้อมกัน
เช่นเดียวกับการค้นหาเครื่องมือที่เหมาะกับตัวเอง สิ่งสำคัญคือต้องทำให้ประสบการณ์การเรียนรู้ครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่าเพียงแค่อ่านคำจากบัตรหรือลิสต์คำศัพท์ ให้ลองฟังว่าคำศัพท์เหล่านั้นออกเสียงอย่างไร แล้วฝึกพูดออกมาดังๆ เขียน หรือพิมพ์ควบคู่ไปด้วย ยิ่งการเรียนรู้คำศัพท์เป็นประสบการณ์สำหรับทุกประสาทสัมผัสมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น (หรือจะลองกินไอศกรีมพร้อมกับเรียนรู้ว่ารสชาติต่างๆเรียกว่าอะไรก็เป็นไอเดียที่ดี)
8. โฟกัสคำที่เป็นประโยชน์
หากคุณกำลังเรียนรู้คำศัพท์เพิ่มเป็นเพราะว่าต้องการทำงานในบริษัทการตลาดในต่างประเทศ ก็ไม่จำเป็นต้องอ่านนวนิยายของเชกสเปียร์หรือจดจำคำที่เกี่ยวข้องกับยุคกลาง ถ้าหากเน้นโฟกัสไปที่คำศัพท์ที่ใช้ได้จริงและใช้โดยทั่วไปในวิชาชีพ งานอดิเรก และบทสนทนาในชีวิตจริง ก็จะง่ายต่อการเรียนรู้คำศัพท์เหล่านี้ และจะสามารถใช้คำศัพท์เหล่านี้ได้บ่อยขึ้น (หรือจะทำให้เป็นเกมอย่างนึงก็ได้ เราสามารถให้รางวัลตัวเองทุกครั้งที่ใช้คำบางคำในการสนทนาในชีวิตจริง)
9. ฝึกทำซ้ำแล้วทำซ้ำอีก
จำไว้ว่าอย่าฝึกพูดซ้ำคำศัพท์ปัจจุบันที่กำลังท่องอยู่เพียงอย่างเดียว แต่ควรรวมถึงคำศัพท์เก่าที่เราคิดว่าจำได้แล้วด้วย ไม่จำเป็นต้องดูคำศัพท์เก่าบ่อยเท่ากับคำศัพท์ใหม่ แต่ยิ่งใช้คำศัพท์ได้มากเท่าไหร่ก็จะยิ่งจดจำได้ดีขึ้นเท่านั้น